พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “กวนซีอิมผู่สัก” (พระโพธิสัตว์กวนอิม) เป็นพระมหาโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่มีพระเมตตากรุณามากซึ่งมีความสำคัญ ในการโปรดสัตว์โลกเป็นอย่างยิ่งในพระไตรปิฎกนิกายจีนมหายาน ได้จารึกถึงบทบาทสำคัญของพระองค์ ที่มีต่อพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก พระองค์ได้ทรงตั้งปณิธานไว้ว่าจะขอโปรดสัตว์โลกในไตรภูมิเพื่อให้ สัตว์โลก ได้รับพระเมตตากรุณามากที่สุด “ในเมื่อสัตว์โลกยังโปรดไม่หมด พระองค์ก็ยังไม่มีพระทัย ที่จะเสด็จเข้าสู่พุทธภูมิเสด็จนิพพานเป็นพระพุทธเจ้า” พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ ปรากฏพระนามตั้งแต่ยุคแรกของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีน พระอาจารย์กุมารชีพแปลพระนามเป็นภาษาจีนว่า กวนซีอิม ตามศัพท์คำว่า อวโลกิเตศวร ในความหมายของ “พระผู้เพ่งเสียงแห่งโลก” ( กวน=อว ซี=โลกิต อิม=ศวร ) ต่อมา เนื่องจากคำว่า ซี ไปตรงกับพระนามของพระจักรพรรดิถังไท่จง คือหลีซีหมิง จึงตัดคำว่า ซี ออกเหลือเพียงแต่ กวนอิม
ในพระสูตร สัทธรรมปุณฑรีกสูตร อวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์สมันตมุขปริวรรต ของฝ่ายมหายาน กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเหตุแห่งพระนามอวโลกิเตศวรว่า เพราะพระอวโลกิเตศวรมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกเป็นอันมาก สามารถเนรมิตนิรมาณกายไปโปรดสัตว์ยังโลกอื่นๆ อีก เช่น นิรมาณกายเป็นนาคไปโปรดนาคที่โลกนาค นิรมาณกายเป็นเทพไปโปรดเทพยังสวรรค์ เป็นต้น พระโพธิสัตว์สามารถประทานอภัย คือการช่วยให้พ้นทุกข์ภัย อันได้แก่ อัคคีภัย อุทกภัย และ โจรภัย เป็นต้น
อัคคีภัย ณ ที่นี้ หมายถึง 1. โลภะ อัคนี 2. โทสะ อัคนี 3. โมหะ อัคนีไฟชนิดนี้อันมีนามว่า “อัคนีแห่งกิเลศราคะ” แม้จะเอาน้ำในมหาสมุทรดับก็ไม่ได้ผล อัคคีชนิดนี้ ลุกลามแผ่ไพศาลครอบงำมนุษย์ถึงขนาดเจ้าโลภะ โทสะ โมหะ ก็เข้าบงการจิตใจ
อุทกภัย หมายถึง ทะเลทุกข์ ซึ่งเรียกกันในพระพุทธศาสนา สัตว์อุปมาดังผู้อาศัยอยู่ในเรือน้อยลอยลำร่อนเร่พเนจรอยู่ในกลางทะเลอันเป็นวัฏฏสงสาร เวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในโลกคือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
โจรภัย คำว่า “โจร” หมายถึง โจรแห่งอารมณ์ฟุ้งซ่านหาใช่โจรธรรมดาไม่ โจรชนิดนี้ไม่มีตัวตน ปล้นอย่างเงียบ ๆ และใจเย็น ผู้ถูกปล้น มีสติเพลิดเพลินหลงใหลทรัพย์สินเงินทองสมบัติหมดเปลือง ถูกขนของออกจากบ้านไปโดยการปล้นทีละเล็กทีละน้อยจนหมดเนื้อหมดตัว
การขอให้พ้นภัยก็ไม่ลำบาก เพียงแต่ตั้งใจภาวนาคำว่า "นำมอ กวนซีอิมผ่อสัก" ความทุกข์ก็พลันสลาย
ส่วนใน อวโลกิเตศวรสมาธิสูตร กล่าวว่าทรงเป็นพระสัทธรรมประภาสตถาคตผู้ทรงตรัสรู้แล้วในอดีต แต่ทรงสงสารเหล่าสัตว์จึงทรงดำรงอยู่ในโพธิสัตว์กายเพื่อโปรดสัตว์ พระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงเนรมิตพระรูปกาย ๓๓ กาย แสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย ได้แก่รูปของพระพุทธเจ้า พระสาวก พระพรหม พระอินทร์ พระเจ้าจักรพรรดิ เศรษฐี กุมาร กุมารี เทพ ครุฑ นาค ยักษ์ ฯลฯ
พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์เป็นพระโพธิสัตว์ที่ชาวจีนนับถือเป็นอันมาก นับแต่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) ชาวจีนนับถือกันว่าเกาะผู่ถอซาน นอกชายฝั่งเมืองหนิงปอ มณฑลเจ้อเจียง คือเกาะโปตลกะอันเป็นที่ประทับ ( ภาษาจีนว่า โผวท้อเลาะแค) เกาะแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ บนเกาะมีวัดวาอารามที่สร้างบูชารูปท่าน และวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาท่านโดยเฉพาะก็มีอยู่มากมายรูปเพศหญิงของพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ ที่เราเห็นในปัจจุบันนั้นเป็นความนิยมหลังสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) (พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๘๒๒) เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๒๓ - ๑๙๑๑) ตำนานเรื่องประวัติพระกวนอิมแพร่หลายในหมู่ชาวบ้านมาก นับถือกันว่าพระอวโลกิเตศวรนั้น แต่เดิมคือ พระธิดาเมี่ยวซั่น แห่งกษัตริย์เมี่ยวจวงอ้วง ตามเรื่องในนิทาน ทำให้รูปปฏิมาภายหลังจึงนิยมสร้างเป็นรูปสตรีเพศ โดยอุปมาว่าทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ประดุจมารดามีต่อบุตร พระกวนอิม หรือพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ จึงเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระองค์เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง พระองค์ท่านทรงเป็นผู้มีเมตตากรุณาช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยของสัตว์โลกทั่วไตรภูมิและทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นนิจสิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น